>>>ขั้นตอนการสร้างบ้านดิน<<<
ขั้นตอนแรกควรตรวจสอบดินในบริเวณที่เราคิดจะนำมาสร้างบ้านเสียก่อน
ว่าดินนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ โดยนำดินใส่แก้วสามในสี่ส่วน เติมน้ำให้ท่วมดิน
เกลือ 1 ช้อนชา จากนั้นให้คนดินกับเกลือ
แล้วสังเกตว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร
ซึ่งการตกตะกอนนั้นจะแบ่งเป็น 10
ส่วน ถ้ามีดินเหนียว 2 ใน 10
ส่วน ก็สามารถนำมาสร้างบ้านได้ แต่ก็ต้องลองปั้นเป็นลูกกลมๆ ขนาดเล็ก
ถ้าดินเกาะกันแน่นแสดงว่าสร้างบ้านได้
แต่ถ้าร่วนซุยแสดงว่าไม่สามารถนำมาสร้างบ้านได้
การเลือกสถานที่เตรียมอิฐที่ทำมาจากดิน
ต้องเลือกสถานที่ที่ใกล้กับที่จะสร้างบ้านจริงๆ ด้วย เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้าย
และต้องระวังไม่ให้พื้นที่ที่วางดินนั้นมีน้ำท่วมถึง การทำอิฐจากดินนั้น
หลักการนวดต้องใช้เท้าเป็นตัวช่วยนวด ดังนั้นต้องหากระบะไว้เหยียบดิน
ถ้าหากดินที่เอามาใช้มีลักษณะที่เหนียวจนเกินไป
ก็ให้แช่น้ำไว้หนึ่งคืนเพื่อให้ดินเหลวและนวดได้ง่ายขึ้น
หรือเมื่อเจอดินที่เหนียวมากๆ ก็ให้ใช้แกลบ หรือฟางข้าวมาผสมกับทราย
ปริมาณในการผสมก็วัดจากตอนที่เหยียบดินขึ้นมานั้น ดินติดเท้าหรือไม่
ถ้าติดก็แสดงว่าต้องเติมวัสดุช่วยเหลืออีก แต่ถ้าไม่ติดแสดงว่าอัตราส่วนพอดีแล้ว
จากนั้นนำดินไปใส่พิมพ์ที่ทำเป็นบล็อกคล้ายกับอิฐก้อนใหญ่ๆ
ตากอิฐดินทิ้งไว้หนึ่งวัน
จากนั้นทำการพลิกตั้งขึ้นสลับกันทุกวันเพื่อให้อิฐไม่ติดกับพื้น ใช้เวลาประมาณ 7
วัน ในการตากให้แห้ง สำหรับคนที่ชำนาญแล้วจะสามารถทำอิฐก้อนได้ถึงวันละ 70-100
ก้อน
หลังจากที่อิฐแห้งแล้วก็มาถึงขั้นตอนการเตรียมปูนที่ต้องใช้ดินชนิดเดียวกับตัวอิฐ
เพื่อเอามาก่อเป็นโครงสร้างก่อนจะสร้างบ้านให้เลือกทำเลที่ยกบ้านสูงพ้นทางน้ำ
โดยอาจจะสร้างบ้านที่มีบันได หรืออาจจะถมดินบริเวณที่จะสร้างบ้านดินให้สูงขึ้นด้วย
การสร้างบันไดจะช่วยให้บ้านหลีกหนีความชื้นในดิน
และหลีกเลี่ยงการเจอจอมปลวกในดินอีกด้วย
ซึ่งการเทฐานบ้านอาจจะใช้การเทด้วยซีเมนซ์ก็ได้
เป็นการเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงให้กับโครงสร้างบ้านดินหลังน้อยของเรา
บ้านดินเป็นบ้านที่ไม่มีเสา เพราะถือว่าอิฐทุกก้อนนั่นมีความมั่นคงแข็งแรง
หลังจากเทพื้นฐานของบ้านแล้ว ก็ค่อยๆสร้างบ้านโดยเริ่มจากกำแพงชั้นล่าง
และเว้นช่องไว้ใส่ประตูหน้าต่าง
หรืออาจจะมีวงกบวางไว้เพื่อสร้างโครงบ้านให้เสร็จต่อไป
การทาสี
ก็ควรเอาสีที่ได้จากดินมาคลุกกับทรายละเอียด
แล้วคลุกกับแป้งเปียกจึงนำมาทาบ้านได้ตามใจชอบหลังจากทาสีบ้านเสร็จก็สามารถตกแต่งภายในได้เลย
จะปูกระเบื้องหรือจะปล่อยพื้นให้โล่งๆ ก็แล้วแต่เจ้าของบ้านชอบใจ
การสร้างบ้านดินนั้นไม่ใช่แต่เอาดินกับฟางข้าวมาสร้างได้เท่านั้น
แต่เรายังสามารถนำยางรถ ขวดแก้ว กระป๋อง ซากปูนเก่าๆ
มาผสมกับดินเพื่อเป็นส่วนในการทำโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการเทพื้น
หรือการทำก้อนอิฐได้ทั้งนั้น อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนในการก่อสร้างอีกด้วย
หัวใจของบ้านดินนั้นมาจากการพัฒนาและพึ่งพาสิ่งรอบๆตัว
นำมาบูรณาการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งบ้านดินก็ยังมีข้อได้เปรียบบ้านปูนคือ
ในการสร้างบ้านดินนั้นเราสามารถสร้างบ้านให้บิดโค้งได้ง่ายกว่าคอนกรีต
ซึ่งจะทำให้บ้านดูมีความเป็นธรรมชาติกว่าคอนนกรีต และการที่บ้านมีผนังโค้งนั้น
จะมีส่วนช่วยให้ผนังแข็งแรงมากกว่าการทำผนังแนวยาว เพราะเมื่อสร้างผนังแนวยาว
ก็ต้องใช้การค้ำยันเยอะขึ้น
เราจึงเห็นลักษณะของบ้านดินค่อนข้างจะมีลักษณะโค้งนั่นเอง
แต่ข้อเสียของบ้านดินที่มีผนังโค้ง คือการปรับวางเฟอร์นิเจอร์ที่ค่อนข้างยากลำบาก เพราะการวางเฟอร์นิเจอร์เข้ามุมจะยากขึ้นนั่นเอง
แต่เชื่อว่าเมื่อออกแบบมาแล้วก็ไม่เป็นปัญหา
เพาระคุณสามารถเลือกทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามต้องการ